เศรษฐศาสตร์แก้ยากจน
เศรษฐศาสตร์แก้ยากจน
โนเบลเศรษฐศาสตร์ประกาศไปเมื่อวันที่ 14 ต.ค. เป็นสาขาสุดท้ายของฤดูกาลโนเบล โนเบลเศรษฐศาสตร์ปีนี้น่าสนใจตรงที่ผู้ชนะรางวัล 3 คนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ คือ นาย อภิจิต บาเนอร์จี ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย วัย 58 ปี นาง เอสเธอร์ ดูโฟล ชาวอเมริกันเชื้อสายฝรั่งเศส วัย 46 ปี และนาย ไมเคิล เครเมอร์ ชาวอเมริกัน วัย 54 ปี
สองคนแรกที่ต่อมาพบว่าเป็นสามีภรรยากัน ทำงานที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเสตต์ (MIT) ส่วนเครเมอร์ทำงานที่ฮาร์วาร์ด ยูนิเวอร์ซิตี้ นั้น มีผลงานศึกษาร่วมกันเกี่ยวข้องการแก้ปัญหาความยากจนทั่วโลก
เป็นปัญหาระดับรากหญ้าและเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่มักถูกลืมในหลายพื้นที่ทั่วโลก
“ผลงานวิชาการของทั้งสามคน ตีแตกปัญหาให้เล็กลง เข้าใจและแก้ไขได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น มุ่งแก้จากแง่ของการศึกษาและการรักษาสุขภาพ” สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ผู้คัดเลือกผู้ชนะโนเบลเศรษฐศาสตร์กล่าวและว่า “ผลการศึกษาและการทดลองภาคสนามของ
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งสามคน ช่วยหาทางออกปัญหาเริ่มตั้งแต่การจัดให้มีการสอนเสริมให้กับเด็กหลายสิบล้านคนในอินเดียและแอฟริกา ไปจนถึงการกระตุ้นให้รัฐบาลทั่วโลกเพิ่มงบด้านสาธารณสุขสำหรับโรคที่ป้องกันได้”
ขณะที่นางดูโฟล อธิบายผ่านโทรศัพท์หลังรู้ข่าวได้รับรางวัล ระบุว่า “แนวทางการศึกษาเริ่มจากกรอบแนวคิดที่ว่ากลุ่มคนจนมักถูกล้อเลียน ถูกดูแคลน แม้แต่คนที่ต้องการยื่นมือช่วย ไม่ได้เข้าใจแก่นรากของปัญหาอย่างแท้จริง”
ส่วนวิธีการศึกษาที่รวมทั้งการประเมินผลกระทบจากประเด็นที่มักเป็นปัญหาเด่นชัด เช่น ขาดตำราเรียนหรือไม่มีครูนั้น ดูโฟลบอกว่าเป็นเป้าหมายของทีมศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าการต่อสู้ความยากจนตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
เรื่องนี้เป็นปัญหารากหญ้าของแท้โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศยากจน ช่องว่างคนรวยจนกางห่างเป็นวาสองวาสามวาสี่วา อย่าว่าแต่จะตามทัน แค่ขยับเข้าใกล้ยังห่างไกลความจริง
การศึกษาพบวิธีการสู้ปัญหาความยากจน จึงเป็นการมอบโอกาสให้กลุ่มคนด้อยโอกาสได้ถูกจุดตรงเผง
ติดตามข่าวสารของเศรษฐศาสตร์ได้ที่นี่ >>> ตลาดหุ้นเอเชียเปิดบวกเล็กน้อย นักลงทุนจับตาข้อมูล ศก.